ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

การประเมินจากภายนอกรอบที่สองของโรงเรียนทุ่งสง ได้ผ่านพ้นไปได้ ผลเป็นอย่างไร ไม่อาจทำนายได้ นอกจากการเขียนรายงานของคณะกรรมการเท่านั้น แต่เราเองก็ต้องคิดว่าเราทำดีที่สุดและสมควรจะได้รับการรับรองจาก สมศ.

โรงเรียนทุ่งสง มีอายุมามากกว่า 60 ปี มีผู้บริหารมานับ 10 คน ผู้คนมากมายที่ผ่านเข้ามา ทั้งเพื่อศึกษาหาความรู้ ทั้งเข้ามาเพื่อประกอบอาชีพครู และทั้งที่เข้ามาเพื่ออาศัยอยู่ ซึ่งมากมายต้องจบชีวิตลงในสถานศึกษาแห่งนี้ หลายคนจบอาชีพลงในสถานที่แห่งนี้ หลายคนได้ดิบได้ดีจากที่แห่งนี้เช่นเดียวกัน จำได้ว่าเมื่อเข้ามาอยู่ในโรงเรียนทุ่งสง ในปีพุทธศักราช 2529 ซึ่งมีอาจารย์ ศุภมน เสาหฤทวงศ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งสงในสมัยนั้น ท่านเป็นคนที่รับโอนข้าพเจ้ามา จากโรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม ด้วยใจมุ่งมั่นที่จะสนองคุณให้กับคนทุ่งสง ที่ให้ที่พักพิง เสมือนกับหนีร้อนมาพึ่งเย็น ด้วยใจอันมุ่งมั่น กอร์ปกับวัยหนุ่มที่ไฟแรง และได้ทีมงานที่รู้ใจกันอย่างอาจารย์นิยม ปรีชา อาจารย์พรเทพ เมืองนิล อาจารย์พงศ์สักดิ์ มูสิกะ การทำงานจึงสนุกมาก ทำกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ นอกจากนี้ยังมีแรงเสริมที่มีอายุไร่เรี่ยกัน อย่างเช่นอาจารย์สัณห์ ปานอ่อน (ย้ายไปโรงเรียนรัษฎา) อาจารย์วัยพจน์ ชาญอาวุธ อาจารย์ยุทนา แก้วเสน ต่อมาก็มีสมาชิกทะยอยย้ายเข้ามาที่โรงเรียนแห่งนี้ อีก เช่น อาจารย์สมหมาย ภูมิพิชญดำรง และท่านอื่นๆอีกหลายต่อหลายคน

ผอ.ศุภมน เสาหฤทวงศ์

ไม่ถึง 2 ปี แต่ก็นับได้ว่าเป็น เวลาที่ได้ซึมซับลักษณะการทำงานของท่านไว้ได้อย่างมากมาย มากจนสามารถพูดได้ว่าเป็นบุญเก่าที่สามารถหากินมาได้จนถึงทุกวันนี้ จุดเด่นประการหนึ่งของท่านในการมอบภาระงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชารับทราบเป็นนัยๆว่าท่านต้องการจะทำสิ่งใดในปีนี้ คือ ท่านจะมอบหมายให้ฝ่ายศิลป์หรือฝ่ายประชาสัมพันธ์ เขียนนโยบายว่าปีนี้จะทำเรื่องใด ติดประกาศตามป้ายประชาสัมพันธ์ และท่านจะประชุมครูบ่อยๆ เพื่อซักซ้อมว่าครูจะต้องทำอะไร เตรียมตัวอะไร กิจวัตรของท่านทุกวัน คือการเดินตามอาคารและอาคารประกอบ จะเห็นภาพของท่านเดินทักทายครูบาอาจารย์ตามหมวดวิชาต่างๆ ท่านไม่เคยว่าใคร แต่แปลกมากว่าครูเป็นจำนวนมากจะกลัวท่าน และแน่นอน นักเรียนจะไม่มีเดินเกะกะในเวลาเรียน ห้องเรียนสะอาด บริเวณสดสวย นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม จนได้รับรางวัลโรงเรียนจัดกิจกรรมจริยธรรมดีเด่น พวกเรามีความสุข ความสำเร็จมาก ในสมัยที่ได้ร่วมงานกับท่าน ได้มีโอกาสร่วมสร้างศาลาร่มฉัตร และจัดทำตราสัญลักษณ์ร่วมฉลองในงาน 60 พรรษา ของในหลวง

ความแน่นอน คือความไม่แน่นอน ได้สนองคุณอาจารย์ศุภมน เสาหฤทวงศ์ อยู่ได้ไม่นาน  ท่านก็ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผอ. โรงเรียนเบญจมราชูทิศ โดยมีอาจารย์ไสว คงสวัสดิ์ ย้ายมาดำรงตำแหน่งแทน ท่านก็เป็นคนดีคนหนึ่ง ในฐานะผู้บริหารท่านได้ทิ้งมรดกสำคัญไว้ให้ คือ อาคารเรียน 5 และซุ้มศาลา 8 เหลี่ยม ที่สวนวิทยาศาสตร์(หลังจากนี้ก็ไม่มีการสร้างอาคารเรียนอีกเลย ทั้งๆที่นักเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี)

ผอ.ไสว คงสวัสดิ์

อยู่มาเมื่อผอ.ไสวย้ายไป ก็มีผอ.สกนธ์ ไชยกาญจน์  มาแทน ท่านมาจากโรงเรียนเชียรใหญ่ มาเพื่อรอเกษียณอายุ ไม่มีผลงานใดที่โดดเด่น แม้แต่การต่อเติมอาคารก็ไม่ได้ทำ

ผอ.สกนธ์ ไชยกาญจน์

กำลังใจของครูดีขึ้น เมื่อผอ.สุรพล หอมหวล ย้ายมาโรงเรียนทุ่งสง ด้วยความเชื่อที่ว่าท่านเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนทุ่งสง และมีฝีมือเป็นที่ปรากฏ จนได้สมญานามว่า ผอ.ศุภมน คนที่ 2 โดยเฉพาะในเรื่องความเที่ยงตรง ความมีเมตตา ความมีวิสัยทัศน์ และการเอาจริงเอาจังต่อการทำงานไม่ว่าทั้งต่อนักเรียน ครู ชุมชน และสามารถรวมพลังใจจากหน่วยงานภายนอกได้อย่างมากมาย ทุ่งสงมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ผอ.สุรพล หอมหวล

แต่แล้วเหมือนกรรมบันดาล ท่านต้องเกษียณ ตัวเองก่อนอายุราชการ ด้วยความจำเป็นเพราะท่านเป็นคนดีเกินไป  ผอ.คนปัจจุบัน คือ ผอ.จำเริญ รัตนบุรี เป็นคนที่มีความสามารถ เพราะท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นผอ.เชี่ยวชาญ ระดับ 9 ย้ายมาจากโรงเรียนทุ่งสงวิทยา เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนทุ่งสงอีกท่านหนึ่งเหมือนกัน นัยว่าได้รับการสนับสนุนจากท่านผอ.สุรพล หอมหวล ให้มาดำรงตำแหน่งแทนท่าน เราชาวทุ่งสงเสียใจมากที่เสียผอ.สุรพลไป แต่ก็ดี ที่ได้ทายาทมาแทน การบริหารงานของท่านผอ.จำเริญ รัตนบุรี ต่างจากท่านผอ.สุรพล หอมหวล โดยสิ้นเชิง ท่านผอ.สุรพล ท่านจะอยู่โรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ และท่านจะเดินดู ตรวจตราโรงเรียน มาโรงเรียนแต่เช้า และจะไปอยู่กับครูเวรที่ประตูโรงเรียนเป็นประจำ นักเรียนคนไหนไม่เรียนร้อย ท่านจะจัดการเอง เป็นที่เกรงกลัวของนักเรียน ปัญหายาเสพติด การพนัน ท่านจัดการเรียบร้อยหมด แม้แต่เรื่องชู้สาว นักเรียนคนใดมีปัญหาท่านจะพาส่งถึงพ่อแม่ด้วยตัวของท่านเอง มาสมัยผอ.จำเริญ รัตนบุรี ความที่ท่านเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ ท่านจะมีภาระกิจกับหน่วยงานราชการภายนอกมาก ติดประชุม เป็นคณะกรรมการนั่น นี่ โน่น  ประเมินโรงเรียน ประเมินผอ. ไม่ค่อยได้อยู่โรงเรียน บรรยากาศที่จะเห็นผอ.เดินตรวจโรงเรียน ตรวจอาคารเรียนจึงไม่ค่อยมี ภาพที่เคยเห็นท่านผอ.สุรพลทำ จะไม่มี ไม่มีแม้แต่การประชุมครู จะน้อยมาก ท่านจึงไม่ค่อยทราบความเป็นไปอย่างลึกๆในโรงเรียน ทราบก็แต่เพียงการรายงานด้วยวาจา ท่านจะกล่าวอ้างเสมอว่า โรงเรียนทุ่งสงมีผู้ช่วยเก่ง มีความรับผิดชอบสูงมาก ท่านมอบหมายงานให้หมดแล้ว แม้ท่านไม่อยู่ โรงเรียนก็สามารถดำเนินไปได้

ผอ.จำเริญ รัตนบุรี

ความเสื่อมถอยเริ่มเข้ามาเยือน โรงเรียนทุ่งสงมีผู้ช่วย   4 ฝ่าย ต้องยอมรับว่าต่างฝ่ายก็ต่างทำหน้าที่ของตนอย่างดีเยี่ยม ไม่ขาดตกบกพร่อง แต่โชคร้ายที่ต่างฝ่ายต่างก็คิดว่าตัวเองใหญ่ เลยไม่มีใครฟังใคร รอยร้าวเริ่มเกิดขึ้น ในขณะที่ผอ.ก็ไม่สามารถประสานรอยร้าวได้ เปรียบเสมือนรถยนต์ที่มีสี่ล้อ แต่ทั้งสี่ล้อไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของพวงมาลัยเสียแล้ว

ครูเริ่มมีอาการถอยหนี งานโครงการที่มีเริ่มที่จะไม่ทำ เพราะปัญหาอุปสรรคมีมากมาย โครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วก็ไม่ได้ทำ ไม่ได้ซื้อ เมื่อนานวันเข้าครูก็เลยอยู่เฉยๆไม่ทำอะไร โรงเรียนก็เฉย สิ้นปีให้รายงานโครงการ ครูก็เฉย เพราะตอนขอทำไม่ให้ทำ โครงการจะให้รายงาน ก็เลยมีงานที่ไม่มีโครงการเกิดขึ้นตามอำเภอใจ เรื่องที่ควรจะต้องทำไม่ได้ทำ เรื่องที่นึกอยากจะทำไม่มีโครงการก็ทำ เป็นเวลากว่า 2 ปี ที่เป็นอย่างนี้ “มีดหมอหรือจะคมกว่ามีดโกน”  เมื่อคนขับรถไม่สามารถควบคุมล้อทั้งสี่ให้วิ่งไปตามเส้นทางที่ควรจะไปได้ จะด้วยความจงใจ หมดใจ เกรงใจ ถอดใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันบ่งบอกให้เห็นถึงความระส่ำระสายของผู้โดยสารที่นั่งมาในรถคันนี้ ไม่รู้จะโดดลงหรือไปช่วยล้อไหนดี

ในฐานะที่อยู่มา 5แผ่นดิน นับรวมได้ 24 ปี ได้ทุ่มเทพลังกายพลังใจ เหนื่อยยาก ลำบากกาย ไม่ได้ย่อท้อ แต่เนื่องด้วยสังขารเริ่มร่วงโรย ย่อมเกิดความกังวลและห่วงใย พูดได้ว่าความเปลี่ยนไปในทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าจะเรื่องดีหรือร้าย ล้วนรับรู้รับทราบและมีส่วนร่วมอยู่ด้วยแทบทั้งสิ้น ก็พอจะสรุปได้ว่า แผ่นดินนี้นะแหละเป็นสมัยที่ครูถอดใจและวางเฉยมากที่สุด เพราะไม่มีนโยบายอันใดเป็นที่เด่นชัด หรือไม่มีแรงจูงใจใดๆเลยที่จะทำเพื่อสร้างสรรค์ เมื่อคนขับรถไม่ลงมาเล่นเองเลย มีแต่ถ่ายโอนให้ล้อซ้ายบ้าง ขวาบ้าง หลังบ้าง จริงอยู่รอง ผอ. มีหน้าที่ดูแลแทนผอ. แต่มิใช่มีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาด เบ็ดเสร็จ ในเรื่องพระเดช พระคุณก็ต่างกัน รองผอ.พูด 10 คำ ไม่เท่า ผอ.พูดคำเดียว การวางเฉย ไม่ได้ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ อาจมองในแง่มุมที่ต่างๆกัน เช่น ปล่อยปละละเลย ไม่ต้องการปะทะ หรือขลาดกลัว เป็นต้น

เมื่อความขัดแย้ง ทวีความรุนแรง รอยร้าวปริแยก เห็นชัดขึ้น เมื่อครู บุคลากร ต่างก็ไม่ยินดียินร้ายต่อคำสั่ง ไม่มีใจที่จะเสียสละ หลีกได้หลีก เลี่ยงได้ก็ปฏิเสธ จะมีคนแบกรับภาระเหล่านี้ได้นานอีกเท่าไร เราจะอาศัยอยู่เพื่อซื้อเวลารอเกษียณอายุ เท่านั้นหรือ ครูรุ่นเก่าๆก็แก่ๆเกินกว่าที่จะมาแบกภาระไหว ในขณะที่ครูรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ หรือทุ่มเทเพื่อสถาบันนี้สักเท่าใด  จะมีใครคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใน 5 – 10 ปี ข้างหน้านี้หรือไม่ มันควรจะเป็นวิสัยทัศน์ของใคร อย่าคิดเพียงอยู่เพื่อจะไป  ใครละ..จะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของสถาบันแห่งนี้.. ท่านคือใคร ? เจ้าของบ้าน ที่มีลูกหลานอยู่เต็ม หรือ อาคันตุกะ ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

ใส่ความเห็น