กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ประวัติสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีบทบัญญัติซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในกิจการโทรคมนาคมอยู่ด้วยกล่าวคือ ม.40 และ ม.335(2)ซึ่งมีบทบัญญัติดังนี้
มาตรา 40 คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่งและกำกับดูแล การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
มาตรา 335 (2) มิให้นำบทบัญญัติ มาตรา 40 มาใช้บังคับ จนกว่าจะมีการตรากฎหมายอนุวัตการให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งต้องไม่เกินสามปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ กฎหมายที่จะตราขึ้นจะต้องไม่กระทบกระเทือนถึงการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาซึ่งมีผลสมบูรณ์อยู่ใน ขณะที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จนกว่าการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้นจะมีผล” ต่อมาพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 อันเป็นกฎหมายอนุวัตการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 เพื่อจัดตั้งองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 16 ก วันที่ 7 มีนาคม 2543 และใช้บังคับเป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2543 สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ มีผลให้เกิดองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ 2 องค์กร คือ
1. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.)
2. คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)

หน้าที่ความรับผิดชอบ

ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง กทช. ซึ่งจะมีการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ และงบประมาณของกรมไปรษณีย์โทรเลขไปเป็นของสำนักงาน กทช. และให้ข้าราชการและลูกจ้างของกรมไปรษณีย์โทรเลข ไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงาน กทช. แล้วกรมไปรษณีย์โทรเลขจะแปรสภาพไปเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กทช.)

ฐานะของสำนักงาน กทช.

1. เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
2. เป็นนิติบุคคล บริหารงานภายใต้ระเบียบหรือประกาศของ กทช.
3. กิจการของสำนักงาน กทช. ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
4. รายได้ของสำนักงาน กทช. มาจากรายได้หรือผลประโยชน์อันได้มาจากการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของ กทช. และสำนักงาน กทช.  รวมทั้งเงินอุดหนุนทั่วไปจากรัฐบาล รายได้ที่เหลือจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าภาระ และเงินที่จัดสรรให้กองทุนต่างๆจะนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ
5. สำนักงาน กทช. มีระบบการบัญชีตามหลักสากล มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุเป็นประจำ  และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงาน กทช.

อำนาจหน้าที่ของสำนักงาน กทช.

1. รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการทั่วไปของ กทช. และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1.1 รับผิดชอบงานธุรการของ กทช.
1.2 รับค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่กำหนดในกฎหมายหรือตามที่ กทช. กำหนด
1.3 รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมเพื่อเสนอต่อ กทช.
1.4 ศึกษารวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมการคาดคะเนความต้องการใช้บริการโทรคมนาคม จำนวนผู้ใช้บริการ  ในพื้นที่ต่าง ๆ และข้อมูลอื่น ๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของ กทช. รวมทั้งช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าว
1.5 ปฏิบัติการอื่นตามที่ กทช. มอบหมาย
2.  เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการร่วมและมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
2.1 รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการร่วม
2.2 ตรวจสอบและเฝ้าฟังการใช้คลื่นความถี่
2.3 รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้คลื่นความถี่ในกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์และกิจการวิทยุโทรคมนาคม เพื่อเสนอต่อ คณะกรรมการร่วม
2.4 ศึกษารวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับคลื่นความถี่และการใช้คลื่นความถี่ ในกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์และ กิจการวิทยุโทรคมนาคม การคาดคะเนความต้องการใช้คลื่นความถี่ และข้อมูลอื่น ๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของคณะกรรมการร่วม  รวมทั้งช่วยเหลือ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าว
2.5 ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการร่วมมอบหมาย
3. บริหารกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะและจัดสรร เงินกองทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กทช.กำหนด

ใส่ความเห็น